ก๊วนซอฟท์แวร์ </softganz> SoftGang (Gang Software)

Web &amp; Software Developer Gang.

เปิดแนวคิด กทช. 3G 'นที ศุกลรัตน์'

by Little Bear @29 ก.ค. 53 17:25 ( IP : 61...129 ) | Tags : 3G

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 กรกฎาคม 2553 13:05 น.

เปลือยใจ 'พ.อ.นที ศุกลรัตน์' กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) หัวเรือใหญ่ในการผลักดัน 3G ของประเทศไทย ตอบทุกคำถามที่ผูกพันกับอนาคตโทรคมนาคมประเทศไทย ชนิดที่คนในวงการและประชาชนผู้บริโภคที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ควรพลาด

ความจำเป็นของการมี 3G

หากมองว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G คือโทรศัพท์ระบบหนึ่ง เราก็ไม่จำเป็นต้องมีเพราะปัจจุบันการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G มีครอบคลุมอยู่มากแล้ว แต่หากมองอีกแบบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G คือการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือไวร์เลส บรอดแบนด์นั้น ถือว่ามีความจำเป็น เพราะสาเหตุที่สำคัญโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคทางด้านโทรคมนาคมขยายไม่ออก โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตขยายตัวน้อยมากเพราะประเทศไทยยังอิง อยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งเพิ่มได้ครั้งละ 1 พอร์ต เพราะฉะนั้นการขยายอย่างไรก็ทำได้ไม่เกิน 10 ล้านราย

ทั้งนี้ การให้ใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ภายในระยะเวลา 4 ปีจะทำให้มีผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ถึง 80% ของประชากรในประเทศ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญเพราะเวลาต่างชาติมองประเทศไทย ปัจจุบันจะมองประเทศไทยมีความเข้มแข็งด้านโครงข่ายพื้นฐานด้านสารสนเทศ ไม่ได้มองที่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่กลับมองที่ปริมาณการใช้งาน บรอดแบนด์ ซึ่งสิ่งนี้คือความคาดหวังที่จะได้เห็นหลังจากการให้ใบอนุญาต 3G จะได้เห็นผู้ใช้งานบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นครั้งละเป็นพันๆราย เทียบกับเพิ่มขึ้นครั้งละ 1 พอร์ตเหมือนปัจจุบัน

กรณีคลังมองว่า 2G ยังใช้ได้อยู่

เป็นเพราะกระทรวงการคลังมองว่า 3G เป็นเพียงระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเดียว ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกใบอนุญาต แต่หากมองเหมือนที่ กทช.มองคือ 3G เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการขยายบรอดแบนด์แบบไร้สายนั่นคือสิ่งที่จำเป็นมาก ปัจจุบันการวัดความเจริญของแต่ละประเทศมองที่จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ซึ่งเป็น โค รงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทางสังคม วัฒนธรรม เป็นช่องทางการสื่อสารที่ทำให้สังคมชนบทกับสังคมเมืองไม่แตกต่างกัน

การเกิด 3G ทำอย่างไรไม่ให้รัฐเสียประโยชน์จากสัมปทานเดิม

ต้องมองว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญคืออะไร กำลังมองที่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนใช่หรือไม่ เพราะหากเรามองผลประโยชน์ดังกล่าวผลสรุปของคลังและ กทช.จะออกมาเหมือนกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สัญญาสัมปทานดำรงมาเป็นระยะเวลายาวนาน รัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีเจตนารมณ์เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเดิมไป สู่ใบอนุญาต เพื่อนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม กทช.เองได้คิดอย่าง รอบคอบว่าทำอย่างไรไม่ให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย จึงนำมาซึ่งข้อกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่ใช้โครงข่ายร่วมกัน ไม่ ว่าจะเป็นเสาสัญญาณ คอนเทนเนอร์ พื้นที่ตั้งเสาสัญญาณ รวมถึงกำหนดการถือครองคลื่นความถี่ซึ่งท้ายสุด ผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่จะต้องนำคลื่นความถี่ 2G มาแลกกับคลื่น 3G ในแง่ของการบริหาร

ฉะนั้น การให้บริการ 3G ที่ค่อยๆ ขยายพื้นที่ ผู้ที่ให้บริการ 3G ยังจำเป็นต้องไปโรมมิ่งใช้ 2G ในพื่นที่ที่ไม่ครอบคลุมดังนั้นรายได้ก็จะกลับไปสู่ บริษัท กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทีโอที เหมือนเดิม

แนวทางการเลิกสัมปทานของคลังเหมาะสมหรือยัง

การแปรสัมปทานเป็นเรื่องที่พูดเมื่อ 10 ปีก็ถูก พูดเมื่อวานก็ถูก พูดวันนี้ก็ถูก ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการแปรสัมปทาน ที่มีเงื่อนไข กฎเกณฑ์ กติกาที่ไม่เท่าเทียมกัน การมีอายุสัญญา และคลื่นความถี่ในมือที่ไม่เท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเป็นธรรมพูดอย่างไรก็ถูก และเป็นสิ่งที่ควรจะทำมานานแล้วไม่ใช่มาทำวันนี้ แต่คิดว่ากระบวนการแปรสัมปทานไม่ควรจะมาเกี่ยวพันกับเรื่องการออกใบอนุญาต 3G เรื่องการออกใบอนุญาต ก็เป็นเรื่องการออกใบอนุญาต เรื่องการแปรสัมปทานก็เป็นเรื่องแปรสัมปทานต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน

การแปรสัมปทานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องระหว่างคู่สัมปทาน คือทีโอที กสท กับเอกชนผู้เป็นคู่สัญญา ถ้าหากคู่สัญญาตกลงกันได้ กทช.ก็พร้อมจะออกใบอนุญาตให้ตามขอบเขตและอายุสัญญาสัมปทานนั้นๆ วิธีที่ดีที่สุดวันนี้ ประการที่หนึ่งคือการแปรสัมปทานทั้งหมดมาสู่ใบอนุญาตบนพื้นฐานที่เท่ากันหมดเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

ประการที่สอง กทช.ออกใบอนุญาตแล้วปล่อยให้อายุสัญญาสัมปทานหมดตามอายุที่เหลือ ก็จะเข้าสู่กระบวนการที่เป็นธรรมและผลประโยชน์ทั้งหลายก็จะกลับไปตกกับ ประชาชน

การแปรสัญญาสัมปทานทำได้เมื่อไหร่ก็เป็นประโยชน์เมื่อนั้นอย่างที่ผม พูดไป แต่การแปรสัมปทานมีตัวแปรและปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่นการลดส่วนแบ่งจาก 25-30 % เหลือ 12.5% ก็เกิดการถกเถียงกันจนไม่รู้จะเถียงยังไง และอีกเรื่องหนึ่งคือความถี่ที่เอกชนมีอยู่ในมือแตกต่างกันจะทำอย่างไรมัน เป็นสาระสำคัญไหม ระยะเวลาสัมปทานที่เหลือ จะตีเป็นราคาที่แตกต่างกันหรือไม่ แค่ประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

ทั้งนี้ หากไม่นำสองเรื่องมาเกี่ยวกันการแปรสัมปทานสำเร็จหรือไม่สำเร็จการแข่งขันก็ จะก้าวเข้าสู่ความเท่าเทียมกันที่ กทช.กำหนดเมื่ออายุสัมปทานของเอกชนแต่ละรายทยอยสิ้นสุด โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ตกสู่ประชาชน แต่หากนำสองเรื่องนี้มาเกี่ยวพันกันการแปรสัมปทานไม่สำเร็จ การออกใบอนุญาตไม่สำเร็จประเทศก็จะยังอยู่ในวังวนนี้ไปอีกยาวนาน

ดังนั้น ควรมองว่าประโยชน์ของประเทศอยู่จุดไหน และต้องมองให้ชัดเจนว่าเส้นทางที่กำลังเดินกันไปเดินไปเพื่อประโยชน์ของใคร ประกอบกับแนวคิดแปรสัมปทานของคลังยังไม่ตกผลึกขณะที่แนวทางออกใบอนุญาตของ กทช.คิดกันมา 5 ปี และมีแนวทางที่ชัดเจน ฉะนั้น หากวันนี้ กทช.หยุดรอแต่การแปรสัมปทานไม่สำเร็จใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับการสูญเสียโอกาสของประเทศ

ผมเคยคุยเรื่องแปรสัมปทานกับรมว.คลัง ซึ่งก็บอกไปว่าสนับสนุนการแปรสัญญาสัมปทานตามแนวคิดท่านเต็มที่ แต่ไม่อยากนำมาเกี่ยวกับการเดินหน้าให้ใบอนุญาต 3G เพราะหากเอามาเกี่ยวโยงกันเมื่อไหร่เมื่อนั้นเราจะพังกันทั้งคู่

กรณีที่หลายฝ่ายมองว่า 2G ยังจำเป็นไม่ควรทิ้ง

ใช่ 2G ยังมีความจำเป็น และ กทช.ก็ไม่ได้บอกให้มีการหยุดให้บริการในวันนี้ทันที การให้บริการ 2G ยังเดินไปตามอายุสัมปทานที่เหลือ เฉลี่ย 3-8 ปี ซึ่งเอกชนก็ยังสามารถใช้ 2G เดิมที่เหลือให้บริการลูกค้าไปก่อนจนกว่าโครงข่ายจะครอบคลุม 80% ภายใน 4 ปีตาม กทช.กำหนด หรือหลังจากนั้นเอกชนอาจจะเช่าโครงข่ายของหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครง ข่ายตามสัญญาสัมปทานให้บริการได้

กทช.ได้มองเรื่องพวกนี้ไว้หมดแล้ว ยังไง 2G ก็ไปต่อ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่ค่อยๆปรับเปลี่ยน แต่หากล่าช้าไปอีก 3G ช้าไปมากแล้วต้องเปลี่ยนเป็น 4G วันนั้นคลื่น 2.1GHz ก็จะมีราคาลดลงเพราะจะเริ่มไปใช้คลื่น 1800MHz 900MHz และ 800MHz แต่วันนี้ไทยจะไม่มีความถี่เหล่านั้นใช้เพราะติดอยู่กับสัญญาสัมปทาน ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก

แต่หากวันนี้ไป 3G และบังคับให้สัญญาสัมปทานหมดไปตามอายุที่เหลือ แล้วเอาคลื่น1800 MHz, 900MHz และ 800 MHz กลับคืนมาถึงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าก็เดินไปสู่ 4G โดยไร้ปัญหาและเป็นกระบวนการเดียวกับหลักสากล

หลายฝ่ายมองว่ากทช.ไม่ฟังความเห็นรัฐบาล

การที่รัฐก่อตั้ง กทช.เป็นองค์กรอิสระเพื่อให้รอดพ้นจากการครอบงำของภาครัฐ อย่างที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐไม่สามารถเข้าไปสั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือปปช.ไปฟ้องร้องคนนั้นคนนี้ได้ กทช.ก็เป็นองค์กรแบบเดียวกัน การสั่งการถือเป็นการก้าวก่ายองค์กรอิสระ

เป็นส่วนที่ต้องปล่อยให้องค์กรอิสระทำงาน พอกทช.ไม่ทำงานก็ด่า แต่มาวันนี้ กทช.ทำงานก็หาว่าไม่รับฟังอีก ก็ไม่เป็นไร เรายืนยันทำสิ่งที่ถูกต้องต่อไป

วันนี้ กทช.ต้องมองว่าอำนาจหน้าที่คืออะไร และอำนาจหน้าที่ของคลังและรัฐบาลคืออะไร และแต่ละฝ่ายต่างเดินหน้าทำตามอำนาจหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายมี การทำงานของ กทช.ที่ผ่านมามองอย่างรอบด้านครบถ้วน ทั้งในส่วนภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และประโยชน์โดยรวมที่จะเกิดแก่ประเทศและประชาชน

การนำคลื่น 2G มาแลก 3G เพื่ออะไร

ต้องการให้ผู้ประกอบการมีความ ถี่อยู่ในมือเท่าเทียมกัน ไม่มีการนำคลื่นความถี่ในมือมากกว่ารายอื่นมาสร้างความสามารถในการแข่งขัน เหนือผู้อื่นโดย กทช.จะนำคลื่นทั้งหมดที่เอกชนไม่จำเป็นต้องใช้แล้วส่งคืนมาจัดสรรให้เกิด ความเป็นธรรม การแข่งขันที่เท่าเทียม แต่หากเอกชนเห็นว่าสามารถแข่งขันได้บน 2G คลื่นเดิมโดยไม่มาสู่ 3G กทช.ก็ไม่บังคับอะไร แต่หากเข้ามาสู่ 3G ทุกรายต้องเดินไปบนความเป็นธรรม

การคืนคลื่นคือการคืนอำนาจในการบริหารจัดการ แต่สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ยังอยู่ตามสัมปทานเดิม สมมติผู้ประกอบการจากสัมปทานมาประมูลได้ใบอนุญาต และต้องการลงโครงข่ายในภูเก็ต เปิดให้บริการได้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า แผนการคืนคลื่นคือต้องระบุว่าจะคืนคลื่น 2G ในภูเก็ต 31 ม.ค.ปีเดียวกันพร้อมทั้งยืนยันสิทธิการใช้เหมือนเดิมตามจำนวนที่ใช้งานจริง เพียงแต่ขาดสิทธิในการบริหารจัดการ

ดังนั้น หากลูกค้าย้ายจาก 2G ไป 3G ไม่มีสิทธินำคลื่น 2G ใช้กับโครงข่าย 3G ได้เพราะกรณีนี้จะเกิดเหตุการณ์ว่ามารับใบอนุญาต 3G เพื่อไซฟ่อน ย้ายลูกค้ามาในขณะเดียวกันเอาความถี่เดิมมาใช้หาประโยชน์บนโครงข่ายใหม่ ฉะนั้น กทช.จึงได้กำหนดการขอใช้สิทธิตามสัมปทานเดิมว่าสถานีฐานแต่ละแห่งใช้คลื่น ความถี่อะไรบ้าง แล้วใช้ต่อไปจนหมดอายุสัมปทาน ไม่มีปัญหาเป็นไปตามสัมปทานทุกประการ หากลูกค้าสามารถย้ายมาบนโครงข่าย 3G หมด คลื่นความถี่เดิมก็จะถูกส่งคืนให้ กสท ทีโอทีไปใช้ประโยชน์ต่อได้

ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องถือครองคลื่นเอาไว้ ไม่เกิดประโยชน์ และเอกชนต้องการเก็บทรัพยากรของชาติไว้ทำไมทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน แต่ถ้ามองในมุมเอกชนจะคิดคืนคลื่นที่เหลือในมือจำนวนมากจากสัมปทาน ทำไมหันไปลงทุน LTE ซึ่งให้บริการได้ถึงระดับ 100Mbps ไปพร้อมกับ 3G บนใบอนุญาตใหม่ฉะนั้นเอกชนรายนี้จะได้เปรียบคู่แข่งชนิดที่ใครก็ต่อกรได้ยาก ด้วยคลื่นความถี่ที่มี ซึ่งจะไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตกับส่วนแบ่งสัมปทานแตกต่างกันอย่างไร

เป็นแนวความคิดที่แตกต่างกันสิ้นเชิง กทช.เก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 2% ซึ่งสะท้อนต้นทุนการกำกับดูแลของ กทช. อีก 4% เป็นเงินที่เข้ากองทุนเพื่อพัฒนาบริการโทรคมนาคมพื้นฐานในพื้นที่ห่างไกลและ คนด้อยโอกาส (USO) และมีหลายฝ่ายรวมถึงสำนักงาน กทช.ประมาณการว่าค่าใบอนุญาตอยู่ในช่วง 5-7% เมื่อเฉลี่ยตามอายุใบอนุญาต 15 ปี ฉะนั้น โดยรวมผู้รับใบอนุญาตจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ 12-13 % ต่อปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการดำเนินธุรกิจแบบสัญญาสัมปทานเดิม

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตน้อยไปไหมหากเทียมกับค่าสัมปทานเดิม

ต้องมองว่าส่วนแบ่งสัมปทานไม่ว่าจะเป็น 25% หรือ 30% ล้วนเป็นเงินที่เก็บจากประชาชนวันนี้หากเหลือสัก 12-13% สัดส่วนที่หายไปก็จะกลับสู่ประชาชน เพราะเงินที่เอกชนแบ่งให้หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็คือเงินที่เอามาจากประชาชน ฉะนั้น กทช.จึงคาด หวังว่าเมื่อมีใบอนุญาต 3G ค่าบริการจะถูกลงตามค่าใบอนุญาตที่ลดต่ำกว่าค่าสัมปทานเงินที่ถูกเก็บลดลงจะ ถูกส่งคืนเข้ากระเป๋าประชาชน

คิดว่าค่าบริการจะถูกกว่าเดิมมากไหม

มองว่าค่าบริการบนใบอนุญาตใหม่จะถูกลงกว่าเดิมพอสมควร เพราะประการแรกเทคโนโลยีจากเดิมที่คลื่นความถี่ขนาดเท่ากันให้บริการให้ หนึ่งคน หากเปลี่ยนเป็น 3G หรือ 3.9G ความถี่เท่าเดิมแต่ให้บริการได้ถึง 4 คน บวกกับประการที่สองเอกชนมีต้นทุนการให้บริการที่ต่ำลงเมื่อรับใบอนุญาต ต้นทุนที่ต่ำลงนำมาซึ่งค่าบริการราคาถูกลงจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้ประชาชน ใช้งานไวร์เลสบรอดแบนด์มากขึ้น

หลักเกณฑ์ของการประมูลเป็นอย่างไร

หลักเกณฑ์การประมูลใบอนุญาตได้สรุปเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรอลงประกาศราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นจะให้เวลา 30 เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าสู่กระบวน การประมูล หลักเกณฑ์ที่น่าสนใจมีหลายอย่างเช่น กำหนดให้มีใบอนุญาต 3 ใบ ใบละ 15MHz ซึ่งตามมาตรฐานสากลสามารถให้บริการทุกอย่างได้อย่างสมบรูณ์ไปถึงเทคโนโลยี 3.9G ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้พร้อมๆ กับประเทศญี่ปุ่นถือเป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และการกำหนดให้คลื่นความถี่เท่ากันของผู้รับใบอนุญาต นำมาซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรมของผู้ประกอบการทุกราย

ประการต่อมา คือ การกำหนดผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็น ของตัวเองหรือ MVNO เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางไปถึงขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาทำ ธุรกิจเกี่ยวกับโทรคมนาคมเป็นครั้งแรกของประเทศ ต่อมาคือการลดการใช้โครงข่ายซับซ้อนโดยให้มีการใช้โครงข่ายพื้นฐานร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนผู้รับใบอนุญาตลดลงซึ่งจะไปสะท้อนราคาค่าบริการให้ต่ำ ลง

นอกจากนี้ยังให้มี การใช้โครงข่ายร่วมกันซึ่งจะทำให้โครงข่ายที่มีอยู่ปัจจุบันกลายไปเป็นโครงข่ายแห่งชาติในที่สุด และกลายเป็นแกนที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแห่งชาติ แนวทางการสนับสนุนผู้ประกอบการ และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภค การทำ CSR การกำจัดข้อความขยะทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกบรรจุไว้ในกฎกติกา หมดแล้วทั้งสิ้น มีผลนำไปสู่การออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลที่ดี และการแข่งขันที่เป็นธรรม

เรื่อง 3G หนักใจ และมีแรงกดดันอะไรหรือไม่

ไม่หนักใจและไร้แรงกดดัน เพราะที่ได้เข้ามาทำงาน ตรงนี้เพราะได้รับฉันทมติ ได้รับความไว้วางใจจากวุฒิสมาชิก และสภาให้เข้ามาทำงานนี้ เพราะไปรับปากไว้ว่าหากเข้ามาจะทำงานด้วยความรับผิดชอบบนความโปร่งใส โดยเฉพาะเรื่อง 3G เป็นเรื่องใหญ่ที่สัญญาเอาไว้ว่าเข้ามาแล้วจะผลักดันให้สำเร็จ ฉะนั้นการทำงานเป็นไปตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่มี ทุกวันนี้ถือว่าตัวเองมาจากประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

รู้อยู่แล้วว่า กทช.จะอยู่ไม่นานเพราะ กสทช.ใกล้เกิดทำไมถึงอยากมาทำงานนี้

เพราะมองว่าเรื่อง 3G เป็นเรื่องที่สำคัญมากโดยเฉพาะใน วิชาชีพของตัวเองที่จบด้านโทรคมนาคมมา ได้มีโอกาสมาผลักดันเรื่องนี้ถือเป็นจุดสูงสุดของชีวิต ว่าได้มีโอกาสสร้างจุดเปลี่ยนผ่านให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ นั่นคือสาระสำคัญ เรื่องอยู่นานไม่นานไม่สำคัญ การ มาเป็น กทช.เกิดจากการจับพลัดจับพลู จากการเข้ามาดูแลเรื่องวิทยุชุมชนทำให้รู้ว่าหากไม่เข้ามาเป็นกทช.ก็ไม่มี อำนาจผลักดันงานที่ทำให้สำเร็จได้ ทำให้ตัดสินใจสมัคร กทช. พอมาเป็น กทช.ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าการผลักดัน 3Gเป็นเรื่องที่สำคัญ

งานด้านโทรคมนาคมมีแรงจูงใจอะไร

สิ่งที่สำคัญของงานด้านโทรคมนาคมคือถนนเส้นใหญ่ที่จะนำความ รู้ไปสู่ประชาชน ทำให้เกิดการพัฒนาในสังคมเกือบทุกรูปแบบ สิ่งที่สำคัญของประเทศที่ขาดคือความรู้ที่ไม่เท่าเทียม ทำให้คนเกิดความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตามหากสังคมไทยเกิดความรู้ที่เท่าเทียม ก็จะทำให้สังคมไทยพัฒนารุดหน้าไปได้

โทรคมนาคมเป็นเครื่องมือที่สำคัญทำให้ช่องว่างความรู้ของคนในเมือง กับคนชนบทไม่มีความแตกต่างกันมากโดยผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม ฉะนั้น 3G จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของประเทศสามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถอ่านและเข้าถึงข้อมูลทั่วทุกโลกให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยไม่มีความ แตกต่างว่าจะอยู่ในตำบลใดสักตำบลของประเทศหรืออยู่ในกรุงเทพฯ

ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์